top of page
รูปภาพนักเขียนPanat neramittagaphong

03 IKIGAI Organization: เริ่มต้นจากสภาพแวดล้อม


บทความโดย:

ปณัฐ เนรมิตตกพงศ์ (อ.แบงค์) Founder of Appreciative systems pcpanat@gmail.com


ในโลกที่เต็มไปด้วยความรู้ มีหลักการและทฤษฏีมากมายที่ถูกแบ่งปันในอินเทอร์เน็ต หลักสูตรความสุข ความรวยมีสอนกันทุกอาทิตย์ แต่กระนั้นผู้คนก็ยังไม่สามารถมีความสุขและความรวยได้อย่างแท้จริง หลายครั้งที่ฝ่ายบุคคลพยายามสรรหาหลักสูตรเพื่อพัฒนาพนักงานในองค์กร ซึ่งก็ได้ผลดีอยู่สองสัปดาห์เป็นอย่างมาก หลังจากนั้นทุกอย่างก็เข้าสู้วัฏจักรเดิม และก็จะต้องฝึกอบรมกันต่อไปเรื่อยๆ


“เมื่อถึงวันปีใหม่ ทุกคนมักตั้งเป้าหมายดีๆเอาไว้เหมือนทุกปี ก่อนที่สัปดาห์ถัดมา คุณจะต้องเผชิญความห่าเหวของชีวิตไปตามปกติ” มาร์ค เทวน

ผมชอบคำกล่าวของมาร์ค เทวนมาก เรามักมีจินตนาการที่สูงเสมอเวลาจะเริ่มต้นอะไรซักอย่าง และจะยิ่งสูงขึ้นหากเรายังไม่หยุดจินตนาการ หากแต่เมื่อเราลงมือทำเมื่อไหร่ เพดานความคาดหวังของเราจะลดลงมาเอง และอาจจะลดลงจนถึงเลิกทำสิ่งนั้นไปเลย


หลักการที่ได้จากการอบรมนั้นอาจจะดีมากจนเราเกิดแรงบันดาลใจในการลุกขึ้นมาทำอะไรซักอย่าง แต่เมื่อเผชิญกับระบบในความเป็นจริง แรงบันดาลใจนั้นก็ค่อยๆถูกลดลง จนสุดท้ายก็กลับไปเหมือนตอนแรก คือไม่มีอะไร


เช่นนี้แล้ว สภาพแวดล้อมในชีวิตจริง จึงมีความสำคัญมากกว่า Passion ในจิตใจ


แน่นอนว่าถ้าทั้งสองอย่างนี้ไปด้วยกันจะดีมาก แต่ในความเป็นจริงเราก็ทราบดีว่าน้อยครั้งมากที่สองอย่างนี้จะไปด้วยกัน


อิคิไกเป็นเรื่องของบุคคล เป็นเหตุผลในการมีชีวิตของคนๆนั้น แนวคิดเรื่องอิคิไกจึงทรงประสิทธิภาพหากนำมาใช้กับปัจเจกบุคล แต่เมื่อใดก็ตามที่ต้องนำมาใช้กับคนจำนวนมากในองค์กร การใช้แนวคิดเรื่องอิคิไกก็ดูเหมือนมีจะประสบปัญหาไม่น้อย เนื่องจากอิคิไกของแต่ละคนไม่เหมือนกัน และเป็นไปไม่ได้ที่จะทำให้อิคิไกของทุกคนเหมือนกัน


คำถามมีอยู่ว่า แล้วถ้าเราต้องการนำแนวคิดเรื่องอิคิไกมาปรับใช้ในองค์กร จะต้องทำอย่างไร?

ผมคิดว่าที่หลายองค์กรสนใจเรื่องอิคิไก ก็เพราะต้องการให้พนักงานในองค์กรรู้สึกว่า ตื่นขึ้นมาแล้วอยากมาทำงานทุกวัน เป็นองค์กรที่มีแต่คนกระรือรือร้นที่จะทำงาน และมีความสุขกับการทำงาน




หลายองค์กรได้นำแนวคิด Start With Why ของ Simon Sinek มาใช้ คือเริ่มจากกการหาว่า องค์กรของเราตั้งขึ้นมาทำไม และนำคำตอบนั้นมากำหนดเป็นอิคิไกขององค์กร ซึ่งก็ดี เพียงแต่อาจจะลืมไปว่า สิ่งที่กำหนดมันเป็นอิคิไกของ “องค์กร” ไม่ใช่ของ “พนักงาน” และเมื่อมันไม่ใช่อิคิไกของพนักงาน มันก็ไม่สามารถเป็นเหตุผลที่ทำให้พนักงานอยากตื่นขึ้นมาทำงานได้


ถ้าลองแจกแบบสอบถามให้คนในองค์กรทำ ว่าทำไมเขาถึงยังทำงานอนู่ในองค์กร ผมเชื่อว่าคำตอบเกินครึ่งเป็นเรื่องของปากท้อง ส่วนคนที่ตอบว่าทำงานเพราะมุ่งมั่นตั้งใจจะทำงานจริงๆนั้นมีไม่ถึง 10%


และผมก็เชื่ออีกเหมือนกันว่า คนที่พึ่งเข้าทำงานใหม่ จะมีอัตราการตอบว่ามาทำงานเพราะมุ่งมั่นตั้งใจมากกว่าคนที่ทำงานอยู่เดิม (และก็เชื่อว่าคนที่กำลังอยู่เดิม ตอนพึ่งเข้ามาทำงานใหม่ๆก็ตอบว่ามาทำงานเพราะมุ่งมั่นเช่นกัน)


ประเด็นก็คือ แล้วความมุ่งมั่นตั้งใจที่มีในตอนแรกมันหายได้อย่างไร?


เรามักเริ่มต้นการพัฒนาองค์กรด้วยการสร้าง Engagement ต้องการทำให้คนในองค์กรรู้สึกภักดีกับองค์กร ทั้งที่ความจริงทุกคนก็มี Engagement ตั้งแต่เริ่มเข้ามาทำงานแล้ว มิเช่นนั้นคงไม่เลือกที่จะมาทำงานที่นี่ เพียงแต่ในชีวิตจริง หลายเรื่องที่ประสบค่อยๆทำให้ Engagement ที่เคยมีนั้นน้อยลงและค่อยๆหายไป


ระบบนิเวศในองค์กร จึงเป็นสิ่งที่สำคัญมากในการสร้าง IKIGAI Organization


ดู 137 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page