top of page
รูปภาพนักเขียนPanat neramittagaphong

Positive Deviance: พัฒนาองค์กรด้วยคนไม่ธรรมดา

อัปเดตเมื่อ 11 ธ.ค. 2561


บทความโดย:

ปณัฐ เนรมิตตกพงศ์ Founder of Appreciative systems pcpanat@gmail.com


Appreciative systems เป็นศาสตร์ที่ผมพัฒนาขึ้นมาจาก Appreciative inquiry โดยได้ประยุกต์เข้ากับศาสตร์อีกหลายๆตัว เช่น Positive psychology, Organization Development, Positive Deviance เป็นต้น โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะสร้างระบบนิเวศเชิงบวกในการทำงานและการใช้ชีวิตให้กับองค์กร ชุมชนและสังคม โดยในบทความนี้จะอธิบายเรื่องการค้นหาแนวทางการแก้ปัญหา โดยใช้หลักการเรื่องพฤติกรรมเบี่ยงเบนในทางบวก (Positive Deviance) ครับ


โดยปกติคำว่า Deviance จะหมายถึง พฤติกรรมบางอย่างที่แตกต่างไปจากบรรทัดฐานหรือมาตรฐานของสังคม เช่น พฤติกรรมการรักร่วมเพศ, ความเชื่อหรือลัทธิที่มุ่งทำร้ายผู้อื่น, ความผิดปกติทางจิต ฯลฯ ซึ่งส่วนใหญ่ คำว่า Deviance จะถูกใช้ไปในแนวทางที่ไม่ค่อยดี ทำให้มุมมองต่อผู้ที่เป็น Deviance ของสังคมนั้นถูกละเลย เพิกเฉย หรือมักจะถูกสังคมพยายามกำจัดและจำกัดให้อยู่ในมุมมืดเสมอ


แต่ความจริงแล้ว พฤติกรรมที่เบี่ยงเบนจากมาตรฐานของสังคม ไม่ได้มีแต่เรื่องลบ (Negative) เท่านั้น ในสังคมก็ยังมีผู้ที่มีพฤติกรรมเบี่ยงเบนจากมาตรฐานในทางบวกด้วยเช่นกัน ตัวอย่างเช่น การประกาศคะแนนสอบในชั้นเรียน โดยหลักแล้วคะแนนของผู้เรียนในชั้นเรียนจะถูกนำมาประมาณค่าคะแนนมาตรฐานที่เรียกว่า Mean ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยคะแนนมาตรฐานของคนในห้อง


คำว่า ค่าเฉลี่ยคะแนนมาตรฐานของคนในห้อง ก็หมายถึง โดยส่วนใหญ่แล้วคะแนนจะอยู่ประมาณนี้ เช่น Mean = 40 ก็หมายความว่า มาตรฐานปกติของคนที่เรียนในคลาสนี้ ควรจะได้คะแนน 40 คะแนน ดังนั้น คนที่ได้คะแนนต่ำกว่า 40 จึงถือว่าได้คะแนนต่ำกว่ามาตรฐาน ถ้าต่ำกว่ามาก ก็คือต่ำกว่ามาตรฐานมาก ส่วนถ้าได้คะแนนเกิน 40 มาก ก็ถือว่าทำได้สูงกว่ามาตรฐาน ดังนั้น ผู้ที่ได้คะแนนท็อปของห้อง จึงเป็นคนที่คะแนนอยู่ไกลจากค่า Mean มากๆ หรือพูดอีกอย่างหนึ่งว่า คนที่ได้คะแนนท็อปก็คือ Positive Deviance ของกลุ่มนี้ เป็นคนที่เบี่ยงเบนออกจากมาตรฐานของสังคมในทางดี ส่วนคนที่ได้ที่โหล่ก็คือ Negative Deviance เป็นคนที่เบี่ยงเบนออกจากมาตรฐานของสังคมในทางไม่ค่อยดี (หมายถึงในแง่คะแนน ไม่ใช่คุณค่าของบุคคล)


หลักการนี้ถูกมาใช้ โดยมีแนวคิดว่า ในสังคมหนึ่งจะต้องมีบางอย่างที่เป็นค่ากลางหรือค่ามาตรฐาน หรือบรรทัดฐานที่คนส่วนใหญ่ในสังคมทำเหมือนกันหรือทำคล้ายๆกัน และก็จะต้องมีอีกส่วนหนึ่งที่เป็น Negative Deviance คือคนที่ทำอะไรแตกต่างจากสังคมมากๆแล้วก็เกิดผลในทางไม่ค่อยดี กับ Positive Deviance คือคนที่ทำอะไรแตกต่างจากสังคมมากๆ แต่เกิดผลในทางดี


หลักการของ Positive Deviance ก็คือให้เราไปสำรวจ ค้นหาคนกลุ่มนี้ คนกลุ่มที่เป็น Deviance เชิงบวก แล้วก็ไปศึกษาว่าเขาทำอะไรบ้างที่ต่างจากมาตรฐานของคนทั่วไป และการกระทำนั้นส่งผลให้เขาได้รับผลดีๆที่ไม่เหมือนคนทั่วไปได้อย่างไร จากนั้นก็ร่วมวิเคราะห์ สังเคราะห์และถอดบทเรียนจากผู้ที่เป็น Positive Deviance เพื่อมาใช้พัฒนาเป็นต้นแบบต่อไป


หนึ่งในเคสคลาสสิคของ Positive Deviance ก็คือ เคสภาวะทุพโภชนาการของเด็กยากจนในเวียดนาม ซึ่งโครงการดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากสหประชาติ ในช่วงแรกก็มีการเข้าไปช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาตามมาตรฐานที่ทำกัน เช่น เข้าไปรณรงค์ ไปจัดอบรมให้ความรู้ จัดทำแคมเปญรับบริจาค ฯลฯ แต่แม้ทีมงานจะทำงานกันอย่างเต็มที่ ภาวะทุพโภชนาการก็ยังสูงอยู่และไม่มีทีท่าว่าจะลดได้เลย จนกระทั่งโครงการเกือบจะต้องปิดตัวลง


ในขณะนั้น คณะทำงานกลุ่มหนึ่งได้สังเกตว่า มีบางครอบครัวที่ยากจน อยู่ในถิ่นกันดาร สภาวะความเป็นอยู่เหมือนเด็กยากจนส่วนใหญ่ ทั้งๆที่ทรัพยากรทุกอย่างไม่ต่างกัน แต่มีบางครอบครัวที่ลูกในบ้านไม่มีปัญหาเรื่องภาวะทุพโภชนาการเลย คณะทำงานกลุ่มนี้ก็เริ่มตั้งข้อสังเกตว่า ในเมื่อสภาพแวดล้อมเหมือนกัน ทุกอย่างเหมือนกัน แต่ทำไมครอบครัวเหล่านี้ถึงได้ผลที่ต่างออกไป จึงเริ่มเข้าไปสำรวจและตรวจสอบโดบละเอียด สิ่งที่เขาค้นพบก็คือ ครอบครัวที่ลูกไม่มีภาวะทุพโภชนาการนั้น มีการปฏิบัติบางอย่างที่แตกต่างจากครอบครัวทั่วไป เช่น โดยปกติครอบครัวอื่นจะป้อนข้าวลูกวันละสองมื้อ แต่บ้านนี้ป้อนวันละ 3-4 มื้อ นอกจากนั้นยังใส่พวกกุ้ง ปูลงไปในอาหารเด็ก ซึ่งโดยปกติครอบครัวอื่นเขาไม่ทำกัน คณะทำงานกลุ่มนี้จึงทดลองจัดทำโครงการเปลี่ยนพฤติกรรมในการป้อนอาหารเด็ก โดยจัดพื้นที่ทดลองขึ้นมา และให้กลุ่มครอบครัวที่เป็น Positive Deviance เหล่านี้มาสาธิตการป้อนอาหารให้เด็กและให้ครอบครัวอื่นทำตาม ภายในสองปี ภาวะทุพโภชนาการของกลุ่มทดลองลดลงถึง 85% ซึ่งถือเป็นความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ จากนั้นจึงมีการขยายผลออกไปต่อเนื่อง จนสามารถเปลี่ยนวัฒนธรรมการป้อนอาหารเด็กในเวียดนามได้



จะเห็นได้ว่า ในปัญหาที่แก้ไม่ได้ ถ้าเราใช้วิธีเดิมๆ วิธีแก้ปัญหาตามหลักการมาตรฐาน ปัญหาก็ยังคงแก้ไม่ได้ เพราะถ้าแก้ได้คงได้ไปนานแล้ว แต่ในขณะที่ชุมชมและสังคมมีปัญหา ก็มีคนกลุ่มหนึ่งที่ไม่ได้ทำตามมาตรฐานของสังคมเท่าไหร่ และก็ดูเหมือนไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหาเหล่านั้นเลย คนกลุ่มนี้คือ Positive Deviance ที่เราต้องเข้าไปศึกษาและขยายผล


ในทุกองค์กร ชุมชน สังคมล้วนแต่มีปัญหา แต่ทุกองค์กร และชุมชนเช่นกัน ที่มีทางออกของปัญหาซ่อนอยู่ มีคำพูดว่า “ถ้าในองค์กรมีปัญหา ในองค์กรก็มีวิธีแก้ปัญหา” เพียงแต่การแก้ปัญหาที่เรื้อรังและมีความสลับซับซ้อน จำเป้นอย่างยิ่งที่ต้องให้ทุกภาคส่วนในองค์กร ในชุมชน ในสังคมนั้น เข้ามามีส่วนร่วม แม้คนเหล่านั้นจะมีพฤติกรรมหรือแนวคิดที่แตกต่างจากเราก็ตาม


มาถึงช่วงท้าย ผมอยากให้ทุกท่านลองนึกถึงปัญหาในองค์กรที่ท่านเจอบ่อยๆ เช่น คนมาสาย ที่อ้างว่าบ้านอยู่ไกลบ้าง รถติดบ้าง เราลองไปหาคนที่มีสภาวะแบบคนๆนี้ คนที่บ้านไกลเหมือนกัน คนที่ฝ่ารถติดเหมือนกัน แต่สามารถมาทำงานได้ตรงเวลา ลองสำรวจและค้นหาดูว่าคนเหล่านี้แตกต่างจากคนอื่นที่มาสายอย่างไร จากนั้นลองพูดคุย ปรับเปลี่ยน โดยให้โอกาสทุกคนได้พูดได้แสดงความเห็น ได้ร่วมคิดและออกแบบแนวทาง เราอาจจะได้ทางออกจากคนที่เป็น Positive Deviance เหล่านี้ครับ


ในบทความต่อไป จะมาพูดถึงว่า Positive Deviance ควรใช้ในสถานการณ์อย่างไร มีเงื่อนไขของความสำเร็จอย่างไรบ้าง รวมถึงขั้นตอนการทำ Positive Deviance ทีละเสต็ปครับ


#PositiveDeviance #Socialchange #Appreciativesystems #OrganizationDevelopment #Positivepsychology #การพัฒนาองค์กร #พฤติกรรมเบี่ยนเบนเชิงบวก #พฤติกรรมเบี่ยงเบนทางบวก

ดู 71 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page