บทความโดย:
ปณัฐ เนรมิตตกพงศ์ Founder of Appreciative systems pcpanat@gmail.com
บทความนี้เขียนสั้นๆนะครับ เพื่อเป็นพื้นฐานในเรื่อง Appreciative Operations ต่อไป
ประสิทธิผล (Effectiveness) หมายถึง การทำได้สำเร็จตามเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ที่วางไว้ เช่น ในโรงงานปลากระป๋องแห่งหนึ่ง ตั้งเป้าไว้ว่าในหนึ่งวันต้องผลิตปลากระป๋องได้ 1,000 ชิ้น เมื่อจบวันก็สามารถผลิตได้ 1,000 ชิ้นพอดี แบบนี้เรียกว่า กระบวนการผลิตของโรงงานนี้มีประสิทธิผล
ประสิทธิภาพ (Efficiency) คำนี้ขออธิบายด้วยรูปนี้ครับ
อันนี้เป็นสมการที่เขียนขึ้นมาเพื่อให้เข้าใจง่ายๆ ประสิทธิภาพ ก็คือ การที่ทำงานได้ตามเป้าหมายที่วางไว้แล้ว และในการทำได้ตามเป้านั้น สามารถลดเวลาการทำงาน หรือลดทรัพยากร หรือลดต้นทุนในการดำเนินลงไปได้ ถ้าใช้ตัวอย่างโรงงานปลากระป๋องเมื่อซักครู่ ก็คือ โรงงานตั้งเป้าไว้ว่าในหนึ่งวันต้องผลิตปลากระป๋องได้ 1,000 ชิ้น (Output) ถึงเวลาผลิตจริงๆ สามารถผลิตได้ 1,000 ชิ้น แต่ใช้เวลาเพียงครึ่งวันก็เสร็จ (ลด Input) แบบนี้เรียกว่า การผลิตครั้งนี้มี ประสิทธิภาพ
คำสุดท้ายคือ ผลิตภาพ (Productivity) ขออธิบายด้วยรูปเช่นเดียวกัน
ผลิตภาพคือ การที่ทำงานได้ตามเป้าหมายแล้ว (คือมี Effectiveness) แล้วก็ทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ (Efficiency) คือสามารถลดของเสีย ลดเวลา ลดจำนวนคน ลด Cost ในการทำงานในขณะที่ยังได้เป้าหมายเท่าเดิมแล้ว จนมันลดอะไรไม่ได้แล้ว แต่ผลผลิตก็ยังเพิ่มขึ้น แบบนี้เรียกว่าผลิตภาพ
ตัวอย่างเดิมครับ โรงงงานต้องการผลิตปลากระป๋องได้ 1,000 ชิ้น ก็ผลิตได้ 1000 ชิ้นแล้ว (Effectiveness) จากนั้นได้ทำการปรับปรุงประสิทธิภาพ(Efficiency) โดยสามารถผลิตปลากระป๋อง 1,000 ชิ้นได้ภายในครึ่งวันเท่านั้น หลังจากนั้นก็ได้พัฒนาต่อจนทำให้ ในเวลาครึ่งวัน สามารถผลิตปลากระป๋องได้ 1,500 ชิ้น (เพิ่มOutput) นี่คือการผลิตอยู่ในระดับมีผลิตภาพ (Productivity)
เรื่องนี้จำเป็นต้องอธิบายให้เข้าใจในเบื้องต้นครับ เนื่องจากประสบการณ์ที่ผ่านมา ผมมักเจอนักบริหารที่ยังไม่เข้าใจเรื่องนี้ บางทีมาถึงก็สั่งลูกน้องเลยว่า ฉันอยากได้ผลิตภาพ ในขณะที่ KPI ขององค์กรยังไม่ได้ตามเป้า (คือยังไม่มีประสิทธิผลเลย) แบบนี้ทำให้ตายก็ไม่มีทางพัฒนาอะไรได้
ผมขอย้ำว่า ในการพัฒนาระบบการดำเนินการขององค์กร จะต้องทำตามขั้นตอน คือ ถ้ามีเป้าหมายหรือมีมาตรฐานที่ต้องการ แต่ยังทำได้ไม่ถึงเป้าหมายหรือมาตรฐานนั้น ขอให้เริ่มจากการทำตามเป้าหมายนั้นให้ได้ซะก่อน เช่น โรงงานนี้ตั้งเป้าไว้ว่าต้องได้วันละ 1000 ชิ้น แต่ปัจจุบันยังทำได้แค่วันละ 800 ชิ้นอยู่เลย อันนี้ไม่ต้องไปปรับปรุงอะไรครับ “ควบคุม” การปฏิบัติงานให้ได้ตามเกณฑ์ก่อน
เมื่อได้ตามเกณฑ์แล้ว ค่อยมาดูว่า เราจะ “ปรับปรุง” อะไรได้บ้าง สามารถลดระยะเวลาที่ใช้ได้มั้ย ลดขั้นตอนที่ไม่จำเป็นได้มั้ย หรือเราจะจัดวางอะไรใหม่เพื่อให้ทำงานได้เร็วขึ้น หรือจะทำอย่างไรให้ต้นทุนลดลง อันนี้เป็นการสร้างกระบวนการทำงานให้มีประสิทธิภาพครับ แต่ถ้ายังไม่สามารถลด Input ได้ ก็อย่าพึ่งพยายามไปเพิ่มผลผลิตครับ
เมื่อปรับปรุงกระบวนการทำงานให้มีประสิทธิภาพแล้ว ทีนี้แหละ เราค่อยมาหาวิธีว่า จะทำอย่างไรให้ผลผลิตสูงขึ้น (เพิ่ม Output)
เพราะงั้น เราต้องทำตามเสต็ปครับ ทำให้ได้ประสิทธิผลก่อน ได้ประสิทธิผลแล้วค่อยมาปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพ เมื่อมีประสิทธิภาพแล้วค่อยมาพัฒนาผลิตภาพ ถ้าทำตามนี้ องค์กรจะพัฒนาโดยไม่เกิด Side effect ครับ
ทีนี้ถามต่อว่า แล้วในแต่ละขั้น เราจะมีวิธีอย่างไรเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย อันนี้เมื่อผมพูดถึงเรื่อง Appreciative Operations มันก็หนีไม่พ้นที่จะต้องเอา Appreciative inquiry มาช่วยครับ โดยการถามหาประสบการณ์ดีๆในกระบวนการทำงาน เช่น บริษัทหนึ่ง มีข้อกำหนดว่า ในการผลิตสายไฟ จะต้องมีสายไฟเสียไม่เกินกำหนด ตรงนี้ผมจำตัวเลขไม่ได้ สมมุติว่าทำเสียได้ไม่เกิน 10% ซึ่งโรงงานนี้ก็ทำได้ตามนี้มาตลอด (มีประสิทธิผล) เราก็เลยเอา Appreciative inquiry เข้าไปปรับปรุงประสิทธิภาพ ผลปรากฎว่าตัวเลขสายไฟเสียลดลงเหลือไม่เกิน 5% (ลด Input = ประสิทธิภาพ) ครับ
หลักการนี้ไม่ได้ใช้เฉพาะโรงงานเท่านั้นนะครับ ท่านผู้อ่านสามารถใช้หลักการ ประสิทธิผล ประสิทธิภาพ และผลิตภาพนี้ไปพัฒนาระบบการจัดการในองค์กรของท่านได้ครับ ไม่ว่าจะเป็นบริษัท ห้างร้าน ห้องสมุด มหาวิทยาลัย โรงเรียน โรงพยาบาล ฯลฯ โดยค่อยๆพัฒนาไปตามเสต็ปอย่างที่ผมบอกครับ
อ้อ เกือบลืม Appreciative inquiry ยังสามารถเอาไปใช้ในการจัดการการดำเนินการ (Operations Management)ได้อีกหลายอย่างนะครับ คราวหน้าจะมาพูดเรื่องการเอาไปใช้กับ 5 ส. , Lean, KaiZen และอื่นๆ พร้อมยกเคสจริงๆมาให้ศึกษากันครับ
Comments