บทความโดย:
ปณัฐ เนรมิตตกพงศ์ Founder of Appreciative systems pcpanat@gmail.com
นานมาแล้วมีคนตัดฟืนคนหนึ่ง ได้ทำขวานที่ใช้ตัดฟืนตกลงไปในน้ำ ขวานเล่มนี้เป็นขวานเล่มเดียวที่เขามี เนื่องจากจนมาก ไม่รู้จะไปหาขวานใหม่ยังไง ถ้าไม่มีขวานก็ตัดต้นไม้ไม่ได้ แกไม่รู้จะทำยังไงเลยนั่งร้องไห้ รุกขเทวดาที่อยู่แถวนั้นเห็นก็สงสาร เลยอาสาลงไปงมขวานให้ งมรอบแรกได้ขวานทอง เทวดาถามว่าใช่มั้ย แกบอกไม่ใช่ เทวดาลงไปงมอีกทีนี้ได้ขวานเงิน แกก็บอกไม่ใช่ รอบสุดท้ายงมได้ขวานเก่าๆของตัวเอง แกเลยบอกว่าใช่ เทวดาประทับใจที่คนตัดฟืนเป็นคนซื่อสัตย์ เลยยกทั้งขวานเงิน ขวานทองให้หมดเลย
ต่อมาคนตัดฟืนพาเมียข้ามแม่น้ำจะเอาฟืนไปขาย ปรากฎทำเมียตกน้ำ ไม่รู้จะทำยังไงก็นั่งร้องห่มร้องไห้อยู่ริมฝั่ง เทวดาเห็นก็สงสารอีกเลยอาสางมเมียให้งมลงไปครั้งแรก เทวดาก็อุ้มใหม่ดาวิกาขึ้นมา แล้วก็ถามว่าใช่คนนี้มั้ย ไอ้คนตัดฟืนรีบบอกใช่ทันที เทวดาก็โมโหว่าเอ็งเป็นคนไม่ซื่อสัตย์ ก็เลยสาปให้เป็นลิงเข้าป่าไป ต้อง10 ปีถึงจะถอนคำสาปได้
อ่านถึงตรงนี้ ท่านผู้อ่านคิดว่า คนตัดฟืนเป็นคนยังไงครับ
ผมว่า่หลายท่านก็น่าจะคิดเหมือนเทวดาใช่มั้ยครับ คนตัดฟืนคนนี้เป็นคนไม่ซื่อสัตย์ เห็นสาวสวยหน่อยไม่ได้ รีบเอาเชียว บางคนอาจจะคิดไปถึงว่าคนตัดฟืนเป็นพวกบ้ากามด้วย
สิ่งที่ทำให้ท่านคิดแบบนั้น ในTheory U เรียกว่า ความคิดดาวโหลด ครับ ความคิดดาวโหลดก็คือความคิดดั้งเดิมที่อยู่ในระบบจิตใต้สำนึกของเรา มันจะตอบสนองต่อสิ่งที่เรารับรู้แบบอัตโนมัติ(เรื่องระบบจิตใต้สำนึก ผมจะเขียนอีกบทความนึงนะครับ) ในกรณีนี้ พอท่านรับรู้ว่า คนตัดฟืนหลอกเทวดาว่าดาราสาวคนนั้นคือเมียตัวเอง ความคิดอัตโนมัติ(ดาวโหลด)ในหัวท่านมันก็จะบอกว่า การกระทำแบบนี้เป็นการกระทำที่ไม่ดี หลอกลวง ไม่ซื่อสัตย์ ผลก็คือ ความคิดมันก็จะสั่งให้เราทำปฏิกิริยาบางอย่างเพื่อตอบสนองเหตุการณ์นั้น เราก็เลย “ตัดสิน” ว่าคนตัดฟืนเป็นคนไม่ดี
โดยปกติ เมื่อรับสาร เราจะเชื่อความคิดดาวโหลดแล้วปฏิบัติทันที
แน่นอนครับ เทวดาเองก็ทำเช่นนั้นเหมือนกัน เทวดาได้ตอบสนองเหตุการณ์นี้โดยการสาปให้คนตัดฟืนกลายเป็นลิง เพราะอะไรเทวดาถึงทำอย่างนั้นครับ? เพราะความคิดทั้งหมดในหัวเทวดามันถูกสรุป(เอาเอง)แล้วว่า คนตัดฟืนเป้นคนไม่ดี และคนไม่ดีต้องได้รับบทเรียน เทวดาจึงให้บทเรียนโดยการสาปให้เป็นลิง 10 ปี เพื่อให้ใช้เวลานั้นสำนึกผิด
ถามว่าเทวดาคิดว่าตัวเองทำผิดมั้ย ไม่แน่นอน จริงมั้ยครับ เทวดา “เชื่อ” สนิทใจเลยว่าสิ่งที่ตัวเองทำมันถูก
เอาล่ะ ผมจะเล่าเรื่องนี้ต่อ
ผ่านไป 10 ปี ผมเจอคนตัดฟืนในคลาส Theory U ครับ ในช่วงที่ผู้เรียนแชร์เคส แกเล่าเรื่องข้างต้นให้ผมฟังแล้วก็บอกว่า เทวดาแม่งใช้ความคิดเดิมมาตัดสิน (Downloading past patterns) ผมก็ถามแกว่า แล้วลุงไปโกหกเทวดาทำไมล่ะ แกบอกว่าเอ็งคิดดูดีๆนะ ถ้าข้าบอกว่าใหม่ดาวิกาไม่ใช่เมีย เอ็งคิดว่าเทวดาจะทำยังไง เทวดาก็จะลงไปงมอีกคนขึ้นมาใช่มั้ย ซึ่งคราวนี้อาจจะเป็นอั้มพัชราภาก็ได้ แล้วถ้าข้าไม่เอาอีก เทวดาก็จะลงไปงมเมียตัวจริงขึ้นมาแล้วก็จะมอบทั้งใหม่ทั้งอั้มให้เป็นเมีย คิดดูสิวะว่าเมียข้าจะรู้สึกยังไง ไอ้ที่ข้าโกหกน่ะ เพราะต้องการให้เทวดาโกรธ จะได้เลิกเอาผู้หญิงขึ้นมา แต่ข้าคำนวณพลาดไปหน่อย คือนึกว่าเทวดาจะด่าก่อน ข้าก็จะได้อธิบาย ปรากฎว่าเทวดาเล่นสาปเลย แล้วพอเป็นลิงก็ไม่รู้จะพูดยังไง นี่ถ้าเทวดารู้จักห้อยแขวนคำตัดสินซะบ้าง ข้าก็ไม่ต้องทนเป็นลิงตั้ง 10 ปีหรอก
ฟังคำให้การของคนตัดฟืนแล้วเป็นไงครับ
หลายคนอาจจะไม่เชื่อ อาจจะคิดว่าอีตาคนนี้มันแถไปเรื่อย หรือบางคนอาจจะเริ่มคิดว่า เออ ก็จริงของแกนะ
ไม่ว่าจะเป็นอะไร ผมเชื่อว่าพอเราฟังจนจบแล้ว ความคิดของเราจะไม่เหมือนตอนต้น
ในตอนต้น เราคิดแบบมั่นใจเลยว่า คนตัดฟืนบ้ากาม ไม่ซื่อสัตย์
แต่พอฟังไปเรื่อยๆ เรากลับพบว่า เอ ตกลงเขาเป็นอย่างนั้นจริงป่าว
จากที่รับรู้สาร ใช้ความคิดดาวโหลดแล้วลงมือปฏิบัติ เราต้องเปลี่ยนเป็นเมื่อรับสาร ให้ห้อยแขวนคำตัดสิน จากนั้นเราจะเจอหรือเห็นรายละเอียดที่ซ่อนอยู่ เราจะเริ่มรู้สึก และรับรู้สารนั้นแบบเข้าใจทุกมิติ
ที่เขียนมาทั้งหมด ผมตั้งใจจะอธิบายหลักการแรกของ Theory U ครับ นั่นคือ การ “ห้อยแขวนคำตัดสิน”
แค่การสื่อสารประโยคเดียว แค่การกระทำเดียว มันไม่สามารถบอกได้หรอกครับว่าเรื่องราวทั้งหมดเป็นอย่างไร
สังเกตสิครับ ปัญหาส่วนใหญ่ที่เราเจอ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาชีวิต การเรีบน การงาน ก็มาจากการใช้ความคิดแบบดาวโหลดนี่แหละครับ เรารับรู้สารและตัดสินทันที โดยที่ไม่ให้โอกาสตัวเองได้รับรู้และรับฟังข้อมูลที่มากกว่านั้น (และแน่นอน เราก็โดนทำแบบนี้เหมือนกัน)
เราต้องฟัง ฟัง และฟัง ฟังเพื่อให้เรารับรู้รายละเอียดนั้นให้มากที่สุดครับ แล้วค่อยคิด วิเคราะห์ แยกแยะ เราถึงจะมีโอกาสได้รับความจริงที่เกิดขึ้น
เปลี่ยนจากการเชื่อความคิดดาวโหลดแล้วปฏิบัติแบบเส้นตรง เป็นการสังเกต รับฟัง เพื่อให้เห็น รู้สึก เข้าใจแบบเส้นโค้ง(ที่เป็นรูปตัวยู)
การห้อยแขวนคำตัดสิน ทำได้โดย
หยุดพูดหรือห้ามพูด ในความจริงเราควรจะหยุดคิดแล้วตั้งใจฟังสิ่งที่ผู้พูดกำลังจะสื่อ แต่ผมคิดว่ามันยากที่จะหยุดความคิดในหัว ดังนั้น สิ่งแรกที่สามารถหัดจนเป็นนิสัยได้คือ ห้ามตัวเองไม่ให้พูดครับ เสียงในหัวเราจะเป็นยังไงก็ช่าง แค่เราไม่พูดออกไปก็พอ ในช่วงแรกอาจจะรู้สึกอึดอัดบ้าง แต่ทำบ่อยๆจะดีขึ้นครับ ถ้าร่างกายนิ่งเดี๋ยวใจมันจะนิ่งตามเอง
ฝึกสติครับ ให้มีสติอยู่กับผู้พูด มีสติในการรับฟัง โดยการตั้งใจฟังสิ่งที่เขากำลังจะสื่อใช้หลักการ
Appreciative ในการฟังครับ อธิบายสั้นๆก็คือ คนเรามักจะสื่อสารในสิ่งที่ตัวเองคิดว่าดีที่สุดเสมอ ดังนั้นให้พยายามหาว่า คุณค่าที่เขาต้องการจะสื่อคืออะไร
ข้อ 2 กับข้อ 3 มีรายละเอียดเยอะ ไว้จะเขียนเป็นอีกบทความครับ
ก่อนจบบทความนี้ ผมอยากให้ทุกท่านลองนึกเรื่องเทวดากับคนตัดฟืนอีกครั้งครับ แล้วก็ลองสังเกตว่ารอบตัวท่านมีคนแบบเทวดาหรือไม่ แล้วเขาเคยตัดสินท่าน(โดยที่ไม่ได้ให้โอกาสท่านอธิบายหรือไม่) จากนั้นลองพิจารณาว่า ตัวท่านเองก็เคยทำแบบเทวดาหรือไม่ ที่ตัดสินคนอื่นโดยที่ยังไม่ได้ฟังยังไม่ได้คุยกับคนๆนั้นเลย ถ้าพบว่ามี ลองเอาหลักการห้อยแขวนคำตัดสินที่เขียนไว้ข้างบนไปลองทำดูครับ
Comments